วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมเข้าจังหวะ กิจกรรมเข้าจังหวะ เป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะในรูปแบบต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะหรือดนตรีที่นำมาประกอบ กิจกรรมเข้าจังหวะเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ คือ มีร่างกายแข็งแรง มีบุคลิกที่ดี และเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ๑ การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ตามจังหวะ การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ตามจังหวะ เป็นการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนที่จากที่ใดที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น การก้มเงย การบิดลำตัว การเหวี่ยงแขนและขา เป็นต้น ตัวอย่างที่ ๑ จังหวะที่ ๑ ก้มศีรษะไปข้างหน้า จังหวะที่ ๒ ผงกศีรษะขึ้นตั้งตรง จังหวะที่ ๓ หงายศีรษะไปข้างหน้า จังหวะที่ ๔ ผงกศีรษะขึ้นตั้งตรง ตัวอย่างที่๒ จังหวะที่ ๑ ยืนตรงมือเท้าสะเอวเอียวศีรษะไปทางซ้ายมือ จังหวะที่ ๒ ยืนตรง มือเท้าสะเอว ศีรษะตั้งตรง จังหวะที ๓ ยืนตรง มือเท้าสะเอว เอียงศีรษะไปทางขวามือ จังหวะที่ ๔ ยืนตรง มือเท้าสะเอว ศีรษะตั้งตรง ตัวอย่างที่ ๓ จังหวะที่ ๑ แยกเท้าซ้ายไปทางซ้ายมือปลายนิ้วทั้งสองแตะไหล่ จังหวะที่ ๒ ชูแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ จังหวะที่ ๓ ลดมือทั้งสองข้างลงแตะไหล่ จังหวะที่ ๔ ดึงเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวาแขนทั้งสองแนบลำตัว ๒ การเคลื่อนที่ตามจังหวะ การเคลื่อนที่ตามจังหวะ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยที่ร่างกายเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามจังหวะ เช่น การเดินตามจังหวะการกระโดดตามจังหวะ การก้าวลากชิด การควบม้า การวิ่งสลับเท้า นักเรียนฝึกเคลื่อนที่ให้เข้ากับจังหวะได้โดยเริ่มจากการเรียนรู้การเคลื่อนที่ ดังนี้ ๑) การเดินก้าวชิดก้าว เป็นการก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้าแล้วดึงเท้าอีกข้างหนึ่งเข้าไปชิดเท้าแรก ทิ้งน้ำหนักตัวไว้ที่เท้าหลัง ๒) การเดินก้าวลากชิด เป็นการก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งออกไปข้าง ๆ แล้วลากเท้าอีกข้างหนึ่งมาชิด ๓) การกระโดด เป็นการสปริงตัวขึ้นจากพื้นด้วยเท้าทั้งสองข้างแล้วลงสู่พื้นด้วยเท้าทั้งสองข้าง ๔) การกระโดดเขย่ง เป็นการสปริงตัวขึ้นจากพื้นด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง แล้วลงสู่พื้นด้วยเท้าข้างเดิม ๕) การก้าวกระโดดเขย่ง เป็นการกระโดดด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลัก เท้าอีกข้างหนึ่งงอเข่าไว้ให้พ้นจากพื้น แล้วกระโดดไปข้างหน้าจากนั้นให้เท้าที่งอเปลี่ยนมาเป็นเท้าหลักอีกครั้ง ทำสลับอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ๖) การวิ่งสลับเท้า เป็นการสปริงเท้าทั้งสองขึ้นพ้นพื้น พร้อมกับดึงเท้าที่อยู่ข้างหลังไปไว้ข้างหน้า ลงสู่พื้นด้วยปลายเท้าทั้งสองพร้อมกัน ทำสลับเท้าอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ๗) การวิ่งควบม้า เป็นการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าโดยให้ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งนำ แล้วก้าวอีกเท้าหนึ่งไปชิดส้นเท้าหน้า ถ้าเท้าใดนำต้องนำตลอดและส้นเท้าไม่เปิด การเคลื่อนไหวตามเพลง เป็นการทำท่าทางประกอบเพลงทั้งในขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่ เช่น ปรบมือ โยกตัว เดิน วิ่ง กระโดด เป็นต้น การเคลื่อนไหวตามเพลงให้สวยงาม นักเรียนต้องฝึกฟังจังหวะแล้วจึงทำท่าทางให้เข้ากับจังหวะ ขอขอบคุณเนื้อหาจาก บริษัทอักษรเจริญทัศน์ จากหนังสือ แม่บทมาตรฐาน สุขศึกษาและพลศึกษา ป.๓ พิมพ์ครั้งที่ ๒