วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ดนตรีบำบัด

" ความสุขที่แท้ ค้นพบได้ในเสียงดนตรี " ดนตรีบําบัด (music therapy)
เรื่อง: ดนตรีบำบัด (Music Therapy)
ดนตรี (Music)
ดนตรี คือ ลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแบบแผนและโครงสร้างชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ เพื่อความสุนทรีย์, เพื่อการบำบัดรักษา และเพื่อการศึกษา
ดนตรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลาย ๆ ด้าน จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีผล ดังนี้

ผลของดนตรีต่อร่างกาย สามารถทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อัตราการหายใจ, อัตราการเต้นของชีพจร, ความดันโลหิต, การตอบสนองของม่านตา, ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนของเลือด

ผลของดนตรีต่อจิตใจและสมอง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อารมณ์, สติสัมปชัญญะ, จินตนาการ, การรับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวัจนะภาษา

องค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรี ก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น
1. จังหวะหรือลีลา (Rhythm) ช่วยสร้างเสริมสมาธิ (Concentration) และช่วยในการผ่อนคลาย (Relax)
2. ระดับเสียง (Pitch) เสียงในระดับต่ำ และระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ
3. ความดัง (Volume / Intensity) พบว่าเสียงที่เบานุ่ม จะทำให้เกิดความสงบสุข สบายใจ ในขณะที่เสียงดัง ทำให้เกิดการเกร็ง กระตุก ของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบการควบคุมตนเองได้ดี มีความสงบ และเกิดสมาธิ
4. ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล
5. การประสานเสียง (Harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้โดยดูจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่าง ๆ จากบทเพลง

ดนตรีบำบัดคืออะไร
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือศาสตร์ที่ว่าด้วย การนำดนตรี หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับเปลี่ยน พัฒนา และคงรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยนักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านทางกิจกรรมทางดนตรีต่าง ๆ อย่างมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ และระเบียบ

วิธีทางวิทยาศาสตร์
เป้าหมายของดนตรีบำบัด ไม่ได้เน้นที่ทักษะทางดนตรี แต่เน้นในด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มารับการบำบัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบท เช่น ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์
ลักษณะเด่นของดนตรีบำบัด

ดนตรีบำบัดมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวหลายด้าน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับอายุ และหลากหลายปัญหา ลักษณะเด่น ได้แก่
1. ประยุกต์เข้ากับระดับความสามารถของบุคคลได้ง่าย
2. กระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน
3. กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
4. ช่วยพัฒนาอารมณ์ จิตใจ
5. เสริมสร้างทักษะทางสังคม และการสื่อสาร
6. ให้การรับรู้ที่มีความหมาย และความสนุกสนาน ไปพร้อมกัน
7. ประสบความสำเร็จในการบำบัดได้ง่าย เนื่องจากประยุกต์ใช้ได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ

ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ตามเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ปัญหาบกพร่องของพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้, โรคซึมเศร้า, โรคอัลไซเมอร์, ปัญหาการบาดเจ็บทางสมอง, ความพิการทางร่างกาย อาการเจ็บปวด และภาวะอื่น ๆ

สำหรับบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดได้เช่นกัน ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียด และในการออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัดมีดังนี้
1. ปรับสภาพจิตใจ ให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวก
2. ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล (Anxiety / Stress Management)
3. กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ (Cognitive Skill)
4. กระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ (Perception)
5. เสริมสร้างสมาธิ (Attention Span)
6. พัฒนาทักษะสังคม (Social Skill)
7. พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา (Communication and Language Skill)
8. พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skill)
9. ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle Tension)
10. ลดอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ (Pain Management)
11. ปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Behavior Modification)
12. สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่าง ๆ (Therapeutic Alliance)
13. ช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่าง ๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว

โดยสรุปดนตรีบำบัด มีประโยชน์หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เสริมสร้างสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการเข้ากับการรักษาอื่นๆ

กระบวนการและรูปแบบดนตรีบำบัด
ในการทำดนตรีบำบัด ไม่มีกระบวนการและรูปแบบที่ตายตัว แต่จะต้องออกแบบการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล มีการวางแผนการบำบัดรายบุคคล โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
1. การประเมินผู้รับการบำบัดรักษา
- ศึกษาข้อมูลประวัติส่วนตัว และประวัติทางการแพทย์
- ประเมินปัญหา และเป้าหมายที่ต้องการบำบัด
- ประเมินสุขภาวะ ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และทักษะการคิด
2. วางแผนการบำบัดรักษา
- ออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล และรายกลุ่ม โดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ
- รูปแบบผสมผสาน กระบวนการต่าง ๆ ทางดนตรี เช่น ร้องเพลง แต่งเพลง ประสานเสียง จินตนาการตาม หรือลีลาประกอบ เป็นต้น
3. ดำเนินการบำบัดรักษา
- สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บำบัด กับผู้รับการบำบัด โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ
- ทำดนตรีบำบัด ร่วมกับการบำบัดรักษารูปแบบอื่น ๆ แบบบูรณาการ
4. ประเมินผลการบำบัดรักษา
- ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการบำบัดให้เหมาะสม

ดนตรีบำบัดในโรงพยาบาล
ในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีการนำดนตรีบำบัดมาร่วมบูรณาการเข้ากับการบำบัดรักษาอื่น ๆ เพื่อเป้าหมายต่าง ๆ กัน ดังตัวอย่างเช่น
1. กระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ
2. ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ
3. ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว รุนแรง อยู่ไม่นิ่ง ร่วมกับพฤติกรรมบำบัด และการบำบัดโดยใช้ยา
4. ช่วยให้สงบ และนอนหลับได้ ในผู้ที่มีความกลัว ความเครียด ร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อม และการใช้ยา
5. ปรับเปลี่ยนอารมณ์ ร่วมกับการใช้ยา และจิตบำบัดในโรคซึมเศร้า
6. เสริมในกระบวนการบำบัดต่าง ๆ ทางจิตเวช
7. ลดความเจ็บปวด ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวดดนตรีบำบัดในโรงเรียน

ในโรงเรียนมีการนำดนตรีบำบัดมาใช้ใน 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. เสริมสร้างจุดแข็งในตัวเด็ก ในทักษะด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากทักษะทางดนตรี เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานประสานสัมพันธ์กันของร่างกาย
2. เสริมในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP - Individualized Educational Program) สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ


BrainWave คลื่นสมอง
การทำงานของสมอง คือการรับส่งข้อมูลเป็นสัญญาณไฟฟ้า และการเคลื่อนไหวของพลังงานเหล่านี้ ทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ คลื่นสมอง

นักวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องมือ Electroencephalogram (EEG) จับภาพสัญญาณไฟฟ้าบริเวณสมอง และแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

[Image: brain-wave-1.gif]

คลื่นเบต้า Beta Brainwave ( ความถี่ระหว่าง 14 – 30 Hz )
เป็นคลื่นสมองที่เร็วที่สุด สมองควบคุมจิตใต้สำนึก
เมื่อใช้สมองเปิดรับข้อมูลพร้อมระบบประสาทสัมผัสทุกด้าน เช่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับความทรงจำระยะสั้น

[b]คลื่นอัลฟ่า Alpha Brainwave ( ความถี่ระหว่าง 8 – 13.9 Hz )[/b]
เมื่อเราพักผ่อน และมีความสงบ (relaxation) แต่อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว สภาวะนี้จะทำให้รับข้อมูลได้ดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้ดี (superlearning)
เข้าถึงและเรียกความจำได้ง่ายและรวดเร็ว พบบ่อยในเด็กที่มีความสุข และผู้ใหญ่ที่มีจิตสมดุล หรือผู้ที่นั่งสมาธิเป็นประจำ
หรือในขณะร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย สภาวะก่อนหลับ
ในทางการแพทย์ คลื่นระดับนี้เหมาะกับการสะกดจิต เพื่อบำบัดโรค
ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการป้อนข้อมูลให้แก่จิตใต้สำนึก สมองสามารถเปิดรับข้อมูลได้อย่างเต็มที่และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นสภาวะที่จิตมีประสิทธิภาพสูง

คลื่นธีต้า Theta Brainwave ( ความถี่ระหว่าง 4 – 7.9 Hz )
เมื่อมีการผ่อนคลายระดับลึก ความคิดสร้างสรรค์ (inspiration) คลื่นปัญญาญาณ เป็นคลื่นที่เราสามารถดึงข้อมูลจากจิตใต้สำนึกได้ (subconscious mind)
การแก้ไขปัญหาโดยไม่รู้ตัว เป็นคลื่นระดับเดียวกับสมาธิระดับลึก (meditaion) เข้าถึงและเรียกความทรงจำระยะยาวได้ดี
สภาวะนี้ จะมีความสุข ลืมความทุกข์ มีแต่ความปิติยินดี
เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind)

คลื่นเดลต้า Delta Brainwave ( ความถี่ระหว่าง 0.1 – 3.9 Hz )
เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ สมองทำงานตามความจำเป็นเท่านั้น แต่กระบวนการของจิตใต้สำนึกจะจัดและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ หลับลึกโดยไม่มีความฝัน จะรู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษเมื่อยามตื่น

หมายเหตุ : ช่วงความถี่คลื่นแต่ละที่มาจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ( ดังภาพด้านล่าง )

[Image: brain-wave-2.gif]


ประโยชน์ของการทำให้คลื่นสมองมีความถี่ต่ำ
คลื่นสมองที่อยู่ในระดับ Alpha Brainwave ( ความถี่ระหว่าง 8 – 13.9 Hz )

ทำให้เป็นคนจิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม มีอารมณ์ดี เบิกบาน ความคิดสร้างสรรค์สูง สมาธิสูง มีความจำดี

และมีพลังความคิดด้านบวกสูง มองโลกในแง่ดี
มักพบในนักบวช พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่กำลังมีความสุข ผู้ที่กำลังสวดมนต์


วิธีปรับคลื่นสมองให้มีความถี่ต่ำ Low Frequency BrainWave
สภาวะแวดล้อม ค่อนข้างเงียบสงบ
ห่างจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น เตาไมโครเวฟ สายไฟฟ้า หม้อแปลง คอมพิวเตอร์
การฟังหรือเล่นดนตรี เพลงคลาสสิค โมสาร์ต Mozart
การฝึกสมาธิ โยคะ
การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทะเล อุทยาน สวนต้นไม้บริเวณบ้าน

คลื่นไมโครเวฟทำลายคลื่นสมอง
มีรายงานในประเทศเยอรมนี รัสเซีย และสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า
คลื่นไมโครเวฟทำให้คลื่นสมองลดลง ความยาวของคลื่นสมองสั้นลงจนทำให้สมองเสื่อม
สังเกตได้จากฉลากขวดนมสำหรับเลี้ยงทารกจะระบุอย่างชัดเจนว่า
ห้ามใช้เตาไมโครเวฟต้มน้ำให้เดือด เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟจะไปทำลายสารอาหารที่มีประโยชน์เสียหมด

ที่มา
หนังสือ รู้เรียนเพื่อเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ … หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา
หนังสือ อัจฉริยะ…เรียนสนุก … หนูดี วนิษา เรซ
หนังสือ ฉลาด เก่ง ดี … เกียรติวรรณ อมาตยกุล
บทความ คลื่นสมองกับพลังพิเศษในตัวคุณ
… ปาริฉัตต์ ศังขะนันทน์ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี