วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Smart Symphonies เสียงดนตรี สื่อดีๆ เพื่อเพิ่มไอคิว

ทำไมดนตรีจึงมีความสำคัญ?

               เพราะดนตรีมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบ เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่ใช้ทั้งสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นพื้นฐานของคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การอ่าน เขียน และพูด อีกทั้งมีผลต่อการคิดวิเคราะห์ เหตุผลเชิงความสำคัญของสิ่งต่างๆ และใช้สมองซีกขวา ช่วยการเรียนรู้ ความรู้สึก และจินตนาการ รวมถึงกระตุ้นความ
คิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และดนตรี

               ดนตรีที่ดีสำหรับพัฒนาการของลูกน้อย เป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นให้มีจังหวะ ทำนอง และความกลมกลืนของเสียง อย่างมีลำดับ มีส่วนช่วยในการจัดลำดับความคิดในสมองส่วน Spatial Temporal ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น เพลงคลาสสิค เป็นต้น

               เมื่อลูกในครรภ์อายุ 5 เดือน ระบบประสาทการรับฟังจะเริ่มทำงาน การได้ยินเริ่มต้นขึ้น และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆตามลำดับคลื่นเสียงที่มีโครงสร้างที่เหมาะสมจะไปกระตุ้นเครือข่ายใยประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินให้พัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้เมื่อลูกออกมาลืมตาดูโลกมีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี

                จากการวิจัยพบว่า ลูกน้อยมีการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับจังหวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สามารถเคลื่อนไหว และตอบสนองตามเสียงที่มีจังหวะเร็วและช้าได้ สามารถแยกแยะเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมถึงจดจำเสียงที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น เสียงคุณแม่ คุณพ่อ เสียงเพลงที่เปิดให้ฟัง

                  ลูกในครรภ์กับพลังแห่งเสียงดนตรี

                เมื่อพูดถึง “ดนตรี” กับลูกในครรภ์ คุณแม่อาจคิดภาพความเกี่ยวข้องกันไม่ออก แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานว่าเด็กในครรภ์จะสามารถรับรู้จังหวะของดนตรีได้หรือไม่ และได้ทำการศึกษาจนพบความจริงอันน่ามหัศจรรย์ว่า ลูกน้อยในท้องรับรู้จังหวะของดนตรีได้แล้ว และได้แนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ให้ความสำคัญกับการให้ลูกได้ฟังเสียงดนตรี เพราะจะส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกอย่างมาก

               คุณแม่สามารถเปิดเพลงให้ลูกในครรภ์ฟังเมื่อลูกอายุ 5 เดือนขึ้นไป ให้ลำโพงอยู่ห่างหน้าท้อง 1 ฟุตขึ้นไป โดยเลือกเพลงคลาสสิค หรือเพลงนุ่มๆ เปิดในระดับที่ไม่ดังเกินไป ในช่วงที่ลูกตื่น สังเกตจากลูกมีอาการดิ้น ทั้งนี้ไม่ควรเปิดบ่อยหรือนานเกินไป ก่อนเปิดก็ชวนลูกในท้องไปด้วยว่า “ลูกจ๋า...มาฟังเพลงกันดีกว่า”


               เรื่องน่ารู้ของดนตรีกับลูกน้อยในท้อง
  • จาก การศึกษาถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์จากการตรวจอัลตราซาวนด์ของ Heinz Prechtl  ที่ได้ติดตามและวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวนด์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่าทารกมีการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับจังหวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้แล้ว และสามารถเคลื่อนไหวตอบสนองตามเสียงที่มีจังหวะเร็วและช้า
  • จากการวิจัยนี้ยังพบว่า ลูกน้อยยังสามารถตอบสนองต่อเพลงที่ได้ยินจนคุ้นเคย และจะมีปฏิกิริยาต่อเพลงที่โปรดปรานด้วย  รวมทั้งเพลงหรือดนตรีคลาสสิกที่คุณแม่เคยเปิดให้ฟังบ่อยๆ ขณะอยู่ในครรภ์ หลังจากคลอดแล้ว หากเปิดเพลงนั้นอีก  ลูกน้อยจะแสดงให้รู้ว่าจำได้
  • มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เสียงดนตรีจะส่งผลดีต่อสมอง และพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกน้อย
    ในครรภ์
  • Dr. Leon Thurman นักวิจัยชาวอเมริกัน ได้ทดลองเปิดเสียงดนตรีให้คุณแม่ตั้งครรภ์ฟังทุกวัน พบว่าเด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการด้านร่างกาย และสติปัญญาสูงกว่าเด็กทั่วไป  และเด็กยังเลี้ยงง่าย มีอารมณ์ แจ่มใส รวมทั้งมีความผูกพันกับคุณแม่เป็นอย่างมากอีกด้วย
  • Dr. Thomas R.Verny จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสมาคมการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในสหรัฐอเมริกา ได้เคยกล่าวไว้ว่า ในกลุ่มคุณแม่ที่ร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกน้อยในครรภ์ฟังทุกวันอย่างสม่ำเสมอนั้น เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว และได้ยินเสียงเพลงนี้จากคุณแม่อีก ลูกน้อยมีแนวโน้มที่จะนิ่งเงียบ และแสดงอาการสนใจเพลงนั้นเป็นอย่างมาก
              ด้วยเหตุนี้ คุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยในครรภ์ได้มีโอกาสฟังดนตรีและจังหวะบ่อยๆ

              กิจกรรมเพื่อสร้างเสริมมหัศจรรย์แห่งพัฒนาการลูกในครรภ์

              ฟังเพลงนะลูก (5 เดือนขึ้นไป)
              เปิดเพลงคลาสสิกทั้งที่เป็นเพลงไทย หรือเพลงสากล ให้ลูกน้อยฟังในช่วงเวลาเย็นๆ เพราะเป็นช่วงที่ลูกตื่นตัว พร้อมฟังเสียงแล้ว
             พัฒนาการที่ได้รับการส่งเสริม 
             ช่วงนี้ ประสาทการรับเสียงของลูกพัฒนาแล้ว ทำนองเพลงที่ช้าๆ เบาๆ ผสมผสานกับจังหวะที่เป็นระบบจะทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มีอารมณ์ดี แจ่มใส โดยเปิดวันละ 1 ครั้งๆ ละ 10-15 นาที
              เพลงนี้ร้องให้ลูกนะ (5 เดือนขึ้นไป)
              คุณแม่ร้องเพลงโปรด หรือเพลงกล่อมเด็กให้ลูกน้อยในครรภ์ฟัง
              พัฒนาการที่ได้รับการส่งเสริม
              เด็กในครรภ์จะชอบฟังเสียงแม่ และเขาจำเสียงแม่ได้  การทำกิจกรรมนี้กับลูก จะส่งผลดีต่อ พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญาของลูก
              คำนี้คล้องจองกัน (5 เดือนขึ้นไป)
              อ่านบทกลอนที่มีคำคล้องจองให้ลูกฟัง แบบทำนองเสนาะ
              พัฒนาการที่ได้รับการส่งเสริม
              กิจกรรมนี้จะช่วยให้อารมณ์ของคุณแม่และลูกน้อยประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน จนเกิดความความสงบขึ้นในจิตใจ ลูกน้อยเองก็จะรู้สึกอบอุ่นมีความสุข ขณะเดียวกันก็จะคุ้นเคย และสามารถจดจำเสียงคุณแม่ได้มากขึ้นด้วย

ข้อควรปฏิบัติ

คุณแม่เปิดเพลงคลาสสิกทั้งที่เป็นเพลงสากลและเพลงไทย ด้วยจังหวะช้าๆ สบายๆ ผสมผสานกับจังหวะที่เป็นระบบ ทำให้คุณแม่ และลูกในครรภ์มีอารมณ์ดี แจ่มใส
ไม่ควรเปิดเพลงเสียงดังเกินไป หรือฟังทั้งวัน เพราะเสียงที่ดังเกินไปหรือได้รับฟังนาน ก่อให้เกิดความเครียดทั้งตัวคุณแม่ และลูกในครรภ์ได้เช่นกัน
นอกจากการฟังเพลงแล้ว คุณแม่หรือคุณพ่ออาจจะเป็นผู้ร้องเพลงให้ลูกได้ฟัง ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสมองของลูกน้อยได้เช่นกันอัลบั้มเพลงสำหรับพัฒนาการเด็ก มีการผลิตและจำหน่ายเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งคุณแม่คุณพ่อสามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายซีดีเพลงที่จำหน่ายเพลงคลาสสิค และเพลงบรรเลงทั่วไป ศิลปินที่แนะนำได้แก่ ผลงานของโมสาร์ต บาค และบราห์ม เป็นต้น

[ที่มา: เว็บไซต์ Enfababy.com]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น